เรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พันธมิตร และคู่ความร่วมมือ
ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดิฉันมีความตั้งใจที่จะนำพาคณะเศรษฐศาสตร์ของเราให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกระแสเศรษฐกิจโลกกำลังกำหนดรูปแบบใหม่ของการศึกษาและการทำงาน ดังนั้น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง
ตลอด 4 ปีข้างหน้า แนวทางการบริหารของคณะจะยึดหลัก "คล่องตัว มุ่งผลลัพธ์ โปร่งใส และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตของคณะ ดังนี้:
1. การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์อนาคต
ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาให้ทันสมัย รองรับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ
พัฒนาโครงการหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Programmes) ในลักษณะ Modular Learning เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถพัฒนาทักษะทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง จากความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม
ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning ให้แก่นักศึกษาเพื่อตอบตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป
2. การขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม
มุ่งเน้นการวิจัยที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นงานวิจัยเชิงนโยบายและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชน และนานาชาติ เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
พัฒนานวัตกรรมจากองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ชุมชนและสังคม
3. การใช้เทคโนโลยีและ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน
นำ AI และ Big Data มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารจัดการคณะ
ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินงาน
4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กระชับความสัมพันธ์กับ ศิษย์เก่าและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานและพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการจริง
สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับ SDGs (Sustainable Development Goals) ให้คณะมีบทบาทเชิงรุกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
5. การบริการวิชาการเพื่อสังคมและชุมชน
ส่งเสริมการบริการวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ
พัฒนาโครงการเชิงรุกที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง
สนับสนุนการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยและบริการวิชาการสู่สาธารณชนผ่านกระบวนการบริหารจัดการ KM
6. วัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใสและพร้อมปรับตัว
สร้างวัฒนธรรม การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผย และมีธรรมาภิบาล
สนับสนุนบุคลากรทุกระดับให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
หากแนวทางใดไม่มีประสิทธิภาพ คณะต้องทบทวนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง
7. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
ปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพโดยใช้แนวทาง Education Criteria for Performance Excellence (EdPEx) และ Thailand Quality Award (TQA)
พัฒนากระบวนการทำงานให้มีมาตรฐานสูงขึ้นและสร้างความคุ้มค่าต่อการดำเนินงาน
มุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Management) เพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิผล
ดิฉันขอเชิญชวนศิษย์เก่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และพันธมิตร คู่ความร่วมมือทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะความสำเร็จของคณะไม่ได้เกิดจากผู้นำเพียงคนเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เราจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน และสร้างคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นแรงสนับสนุนเสมอมา ด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นของพวกเราทุกคน เราจะทะลายทุกขีดจำกัด พลิกโฉมคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเราให้ก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จในการเป็น "ผู้นำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อชุมชนและสังคม ด้วยความเป็นเลิศด้านองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์บูรณาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสริน โอสถานันต์กุล
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
26 มีนาคม 2568